นักโภชนาการเตือนกินเมนูดิบเสี่ยงพยาะเพียบ ชี้เปิบ "ปูนาเป็นๆ" เสี่ยงพยาธิใบไม้ปอด พยาธิปอดหนู อันตรายถึงขั้นตาบอด ส่วน "หมึกช็อต" เสี่ยงรับเชื้ออหิวาต์เทียม พยาธิสัตว์น้ำเค็ม ย้ำพยาธิไชถึงสมองได้

 

เมื่อวันที่ 5 ก.ย. นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการ ผอ.สำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวถึงกระแสกินอาหารดิบ เช่น ปูนาเป็นๆ ปลาหมึกสดๆ กุ้งเต้น โดยไม่ปรุงสุก ว่า ถือเป็นพฤติกรรมเฉพาะกลุ่ม รวมถึงความอยากทดลอง ยิ่งมีการเผยแพร่คลิปวิดีโอกินอาหารดิบผ่านสื่อออนไลน์ จึงกลายเป็นกระแสเมนูยอดนิยม มีวิธีการกินที่น่าตื่นเต้น อาจกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ทั้งนี้ การบริโภคอาหารควรใช้หลักตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก 5 ข้อ คือ 1.รักษาความสะอาด 2.แยกอาหารดิบจากวัตถุดิบอื่นๆ 3.ปรุงสุกทั่วถึง 4.เก็บอาหารในอุณหภูมิที่เหมาะสม และ 5.ใช้น้ำสะอาดและวัตถุดิบที่ปลอดภัยในการปรุง โดยปรุงถูกวิธีและปฏิบัติตามหลักสุขอนามัย ช่วยความเสี่ยงจากการบริโภคสารปนเปื้อนที่เป็นต้นเหตุปัญหาสุขภาพในระยะยาว

 

ผศ.ดร.วรงค์ศิริ เข็มสวัสดิ์ หัวหน้าหน่วยจุลชีววิทยาและเทคโนโลยีชีวภาพทางอาหาร สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล กล่าวว่า การกินปูนาดิบจะเสี่ยงพยาธิใบไม้ในปอด เมื่อเข้าสู่ลำไส้สามารถชอนไชเข้าสู่ปอด ส่งผลให้เกิดโรคไอเรื้อรัง มีอาการเจ็บหน้าอก และเสี่ยงพยาธิปอดหนู นอกจากอาการทั่วไป ไข้ ปวดศีรษะ และอาเจียนแล้ว อันตรายสูงสุดส่งผลให้ตาบอด ขณะที่หมึกช็อต โดยเอาปลาหมึกเป็นๆ แช่ในแก้วน้ำจิ้มซีฟู้ด เมื่อกินสดๆ มีโอกาสได้รับเชื้ออหิวาต์เทียม ซึ่งพบได้ในทะเล ส่งผลให้ปวดท้องรุนแรง ท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำ บางรายลำไส้อักเสบ ยังเสี่ยงพยาธิในสัตว์น้ำเค็ม ส่งผลให้ปวดท้อง แน่นท้อง คลื่นไส้ ท้องอืด กรณีพยาธิเคลื่อนที่อาจทำให้เกิดแผลในลำไส้ ทั้งนี้ ความรุนแรงจากการบริโภคอาหารดิบที่มีการปนเปื้อนขึ้นกับปริมาณ ความถี่ในการบริโภค และสุขภาพร่างกาย หากมีภาวะเจ็บป่วย มีภูมิคุ้มกันต่ำ อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

“พยาธิในอาหารดิบ แม้กินเข้าไปปริมาณไม่มาก แต่อันตราย เพราะพยาธิสามารถฟักตัวและเติบโตได้ในร่างกาย อาจทำให้เกิดความผิดปกติกับระบบร่างกาย กรณีรุนแรงพยาธิชอนไชไปอยู่ที่อวัยวะอื่นๆ เช่น ตับ ลำไส้ กล้ามเนื้อ ปอด และสมอง อาจอันตรายถึงขั้นปอดอักเสบหรือสมองอักเสบ และถึงแก่ชีวิต วิธีป้องกัน คือ 1.หลีกเลี่ยงบริโภคอาหารดิบหรืออาหารสุกๆ ดิบๆ 2.ล้างวัตถุดิบด้วยน้ำสะอาดก่อนปรุง 3.ปรุงสุกที่อุณหภูมิมากกว่า 70 องศาเซลเซียส นาน 5 นาทีขึ้นไป 4.เก็บรักษาเนื้อสัตว์ที่อุณหภูมิเย็นจัด และ 5.เลือกซื้อหรือกินอาหารจากร้านอาหารที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ เน้นปรุงสุกใหม่ ลดเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรคที่มีอาหารและน้ำเป็นสื่อ” ผศ.ดร.วรงค์ศิริ กล่าว


Advertising