Beyond Meat และ Impossible Foods เป็นผู้บุกเบิกผลิตภัณฑ์ plant base food และกลายเป็นผู้เปลี่ยนเทรนด์อาหาร ทำให้ plant based meat ตอบโจทย์ผู้บริโภคทั่วโลก จากเดิมที่จำกัดอยู่แค่ผู้บริโภคกลุ่มมังสวิรัติจำนวนไม่มาก แต่ทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่อมาถึงปี 2019 หลังจาก startup ทั้ง 2 รายนี้เรียกเสียงฮือฮาจากการเปิดตัวเนื้อวัวเทียมจากพืชของตนเอง

ผู้บริโภคหลายคนเปลี่ยนใจมากิน plant based food

Krungthai COMPASS มองว่า ตลาด plant based food จะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจอาหารเดิมเพื่อรองรับเทรนด์อนาคต ที่ผู้บริโภคทั่วโลกหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น รวมถึงยังมีช่องว่างทางการตลาดจากผู้บริโภค flexitarian ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเทรนด์นี้ก็เป็นไปตามกระแสรักสิ่งแวดล้อมและการตระหนักถึงสวัสดิภาพสัตว์ (animal welfare) นอกจากนี้ COVID-19 ยังทำให้ความกังวลในการกินเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นไปอีกด้วย

ผลสำรวจของ Mintel พบว่า 53% ของผู้บริโภคชาวไทยต้องการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ ขณะที่อีก 45% สนใจที่จะปรับเปลี่ยนไปสู่การกินอาหารมังสวิรัติ วีแกน และอาหารจากพืช

Plant based food มีสัดส่วนตลาดใหญ่สุดในตลาดโปรตีนทางเลือก เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์อื่นที่ยังมีตลาดค่อนข้างจำกัด เช่น mycoprotein ที่ใช้ราจากการเพาะเลี้ยงสำหรับทำโปรตีน และโปรตีนจากแมลงที่มักทำออกมาในรูปผง รวมถึงโปรตีนทางเลือกอื่นที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง อย่าง cultured meat เป็นต้น

Plant based food ในไทยยังโตได้อีกไกล

กลุ่ม plant based food ที่น่าจับตามองในไทยส่วนใหญ่ก็สอดคล้องกับเทรนด์ต่างประเทศ ได้แก่ plant based meat, plant based meal และ plant based egg ซึ่งตลาดมีการเติบโตสูง

สำหรับ plant based meat นั้นจะเห็นได้ว่าร้านอาหารในไทยเริ่มทำการตลาดและออกเมนูใหม่ที่เจาะกลุ่มผู้บริโภคที่ไม่กินเนื้อสัตว์มากขึ้น ทำให้คนไทยเริ่มมีความเข้าใจและรับรู้ถึงผลิตภัณฑ์นี้ดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ดี การตั้งราคาให้แข่งขันได้ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญและช่วยผู้บริโภคตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น

Krungthai COMPASS คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาด plant based food ในไทยน่าจะแตะระดับ 4.5 หมื่นล้านบาทในปี 2024 หรือโตเฉลี่ยปีละ 10%

plant based food เพิ่มโอกาสต่อยอดธุรกิจ

นอกจากนี้ Krungthai COMPASS ยังมองว่า plant based food จะช่วยเพิ่มโอกาสต่อยอดผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจอาหารใน 2 segments ได้แก่ ธุรกิจแปรรูปเนื้อสัตว์ ซึ่งมีข้อได้เปรียบกว่า ดูได้จากตัวอย่างบริษัทต่างประเทศ เช่น Tyson Foods ผู้ผลิตไก่เนื้อรายใหญ่ของโลก ก็ออกผลิตภัณฑ์นักเก็ตไก่จากส่วนผสมของถั่วลันเตา เยื่อไผ่ และไข่ขาว ออกมา หรือ JBS ผู้ผลิตเนื้อวัวที่หันมาทำตลาดเบอร์เกอร์ถั่วเหลืองที่มีส่วนผสมของบีทรูท กระเทียม และหัวหอมใหญ่ จนคล้ายเนื้อวัวบดระดับ medium rare เลยทีเดียว

อีก segment หนึ่งที่มีโอกาส ได้แก่ ธุรกิจอาหารสำเร็จรูปทั้งแบบ ready-to-cook และ ready-to-eat เนื่องจาก สามารถนำ plant based food มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย ยกตัวอย่าง NRF บริษัทจดทะเบียนของไทย ที่พัฒนา plant based food มาเป็นอาหารสำเร็จรูปหลากหลาย เช่น เนื้อบาร์บีคิวทำจากขนุน ไส้กรอกที่ทำจากพืช หรือข้าวปั้นหน้าปลาไหลทำจากมะเขือพวง เป็นต้น

plant based food จะขายดีมีหลายปัจจัย

อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตอาหารที่สนใจจะเข้ามาในตลาด plant based food จะต้องระลึกไว้เสมอว่า รสชาติยังเป็นสิ่งสำคัญ แม้ผู้บริโภคกลุ่มนี้จะสนใจสุขภาพแค่ไหนก็ตาม จากข้อมูลของ Plant-based Foods Association พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อ plant based food ของผู้บริโภคมากที่สุด มีเรื่องรสชาติมาเป็นอันดับ 1 ที่ 52% แล้วจึงตามมาด้วยเรื่องสุขภาพ ที่ 39% ดังนั้น ผู้ผลิตต้องหาทางพัฒนารสชาติให้ใกล้เคียงของเดิมให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการใช้ ingredient ปรุงแต่งรสชาติ อย่างสารสกัดจากยีสต์ คัลเจอร์เด็กซ์โตรส และสารแต่งกลิ่นรสธรรมชาติก็ตาม

นอกจากนี้ ยังควรเพิ่มสารอาหารเข้าไป เนื่องจากโปรตีนจากพืชให้คุณค่าทางอาหารน้อยกว่าโปรตีนจากสัตว์ ผู้ประกอบการจึงต้องใส่ใจในการเติมวิตามินและแร่ธาตุที่มักไม่มีในวัตถุดิบจากพืช เช่น วิตามินบี 12 วิตามินดี โอเมก้า-3 สังกะสี และธาตุเหล็ก เป็นต้น

ผู้ประกอบการไทยหลายรายออกตัวกันแล้ว

ขณะนี้ ผู้ประกอบการไทยทั้งรายเล็กและรายใหญ่ต่างพัฒนา plant based food ออกวางขายกันแล้ว และบางคนอาจจะสังเกตเห็นเทรนด์นี้ในงาน THAIFEX-Anuga Asia 2020 กันมาบ้างแล้ว เช่น More Meat ซึ่งพัฒนาเนื้อเทียมจากพืชที่ทำจากเห็ดแครงและโปรตีนถั่วเหลือง หรือ Meat Avatar ที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ “หมูสับจำแลง” และ “หมูกรอบจำแลง” ที่ให้รสชาติและเนื้อสัมผัสคล้ายจริง ขณะที่ บริษัท นิธิ ฟู๊ดส์ จำกัด ก็ผลิต plant based meat ในแบรนด์ Let’s Plant Meat ที่เปิดตลาดในสิงคโปร์แล้ว ซึ่งผลิตภัณฑ์ทำจากถั่วและข้าวเป็นหลัก มีขายในรูปของเบอร์เกอร์เนื้อและเนื้อบด นอกจากนี้ ก็มี NRF ที่ใช้เงินลงทุนในธุรกิจ plant based food ไปกว่า 408 ล้านบาทแล้ว

Krungthai COMPASS มองว่า ในระยะอีก 3-5 ปีข้างหน้า ตลาด plant based food จะเติบโตอย่างรวดเร็วตามเทรนด์ของผู้บริโภค แต่ plant based food ในไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น จึงต้องให้ความสำคัญกับช่องทางการขายและฐานลูกค้าให้ชัดเจน สิ่งสำคัญสุดที่จะช่วยผลักดันตลาด plant based food ในไทยให้โตอย่างก้าวกระโดด คือ การวิจัยและพัฒนาให้ตอบโจทย์เรื่องรสชาติ เนื้อสัมผัส และคุณค่าทางโภชนาการ


Advertising