สถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร ส.อ.ท.ย้ำอุตสาหกรรมเกษตรคือเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนศก.รับมือโควิด-19 ดีสุด เหตุพึ่งท่องเที่ยวและส่งออกยาก ทางรอดหลักของไทย หวังทุกฝ่ายช่วยกันเร่งขับเคลื่อนแผนที่มีอยู่ในปี 2564 เชื่อ 5-10 ปีจะเปลี่ยนโหมดสู่เกษตรอัจฉริยะ และเกษตรปลอดภัย หนุนส่งออกเป็นครัวของโลกได้ไม่ยาก

นายศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล ประธานสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ปี 2564 ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนของสังคมไทยต้องเร่งปรับเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ด้วยการมุ่งเน้นยกระดับภาคการเกษตรดั้งเดิมไปสู่เกษตรอัจฉริยะ (สมาร์ทฟาร์มมิ่ง) และเกษตรปลอดภัย (GAP) เพื่อเป็นทางรอดให้แก่ประเทศ ซึ่งเชื่อว่าหากมีการดำเนินการอย่างจริงจังเพียง 5-10 ปีก็จะนำไปสู่การเพิ่มการส่งออกอาหารแปรรูปและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรของไทยให้อยู่ในอันดับต้นๆ ของโลกได้จากที่ปัจจุบันไทยส่งออกอุตสาหกรรมอาหารอยู่อันดับที่ 11 ของโลก

“ปีที่ผ่านมา ส.อ.ท.ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ใกล้ชิด โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการเปลี่ยนแปลงเกษตรดั้งเดิมด้วยการเร่งใช้เทคโนโลยี การทำเกษตรแปลงใหญ่ มีการวิเคราะห์ดิน หาเงินกู้อย่างเป็นระบบให้ ฯลฯ ผมคิดว่าปี 2564 ภาพจะชัดขึ้น และเชื่อว่าหลายส่วนจะหันมามองเกษตรมากขึ้นเพราะนี่คือทางรอดเป็นเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ซึ่งปัญหาโควิด-19 ทั่วโลกเราไม่อาจพึ่งท่องเที่ยว ส่งออกได้มาก เราต้องพึ่งตัวเองหรือเศรษฐกิจในประเทศ ดังนั้นต้องใช้เกษตรนำแต่ทำที่มีอยู่ให้ดีขึ้นตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงและเป็นครัวของโลกที่สมบูรณ์แบบ คือไม่ทิ้งเกษตรกรไว้ข้างหลัง” นายศักดิ์ชัยกล่าว

อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท.ได้เสนอการขับเคลื่อนแผนงานด้านต่างๆ ให้แก่รัฐบาลอย่างต่อเนื่องในปี 2563 ว่าด้วยการเสนอเกษตรปลอดภัยเป็นวาระแห่งชาติเพื่อสร้างรายได้และลดความเหลื่อมล้ำ การร่วมมือกับกระทรวงเกษตรฯ ว่าด้วยกรอบความร่วมมือด้านการผลิต การแปรรูป การตลาด เทคโนโลยีและโลจิสติกส์ รวมถึงโครงการเกษตรแม่นยำ นำร่อง 2 ล้านใน 6 พืชเศรษฐกิจไทย ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์ม มะเขือเทศ ข้าวโพดหวาน ข้าว และยางพารา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีคอนแทรกต์ฟาร์มมิ่งกับสมาชิก ส.อ.ท.ที่จะมาบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งหากได้ผลก็จะนำไปขยายยังพื้นที่และเกษตรตัวอื่นๆ ขณะนี้เริ่มประสบความสำเร็จบางรายการแล้ว เช่น อ้อยในภาคอีสาน ที่มีการนำระบบเทคโนโลยีมาตรวจวัดค่าความหวานทำให้เห็นว่าแปลงอ้อยแปลงใดควรจะพัฒนาอย่างไร เป็นต้น

นอกจากนี้ ส.อ.ท.ยังได้ร่วมมือกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ที่ล่าสุดได้ปรับแผนในปี 2564-65 ให้สอดรับกับโควิด-19 ที่จะมุ่งเน้นการสร้างโอกาสให้แก่คนตกงานเมื่อกลับไปยังพื้นที่บ้านเกิดให้มีงานทำและตอบโจทย์การพัฒนาด้านการเกษตรของไทยที่สำคัญ ได้แก่ 1. การพัฒนาบุคลากรด้านการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่ขณะนี้ยังมีการขาดแคลน เช่น คนบังคับโดรน ด้วยการเพิ่มหลักสูตรการฝึกบินโดรนเพื่อการเกษตรในระดับอาชีวะ ระบบเซ็นเซอร์ การพัฒนาโรงเรือน เป็นต้น

2. ยกระดับคุณวุฒิวิชาชีพ ด้วยการให้มีการประกาศคุณวุฒิวิชาชีพให้แก่กลุ่มที่มีการฝึกอบรมด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลากรด้านการเกษตร และ 3. ยกระดับอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) โดยการอบรมองค์ความรู้ผ่านศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ที่มีทุกจังหวัดของกระทรวงเกษตรฯ ที่จะรองรับคนตกงานประมาณ 2-3 ล้านคนในจุดนี้ได้ ซึ่งทั้งหมดอยู่ในขั้นตอนของการดำเนินงานและจะชัดเจนมากขึ้นในปี 2564 นี้

Advertising