ราคาเนื้อแพงป่วนธุรกิจค้าปลีก-ร้านอาหารขณะรายงานคาดการณ์ว่าภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกบริโภคเนื้อต่อหัวประชากรเพิ่มขึ้นจนถึงปี 2573 โดยมีจีนเป็นตัวขับเคลื่อนความต้องการหลัก

 

กระแสนิยมบริโภคเนื้อที่มาแรงในขณะนี้บวกกับปัญหาในระบบห่วงโซ่อุปทานด้านอาหารในยุคที่โรคโควิด-19กำลังระบาด และราคาอาหารทะยาน ผลักดันให้ต้นทุนเนื้อเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภคและเจ้าของร้านอาหารชั้นนำทั้งหลายทั่วภูมิภาค  

ข้อมูลระหว่างประเทศบ่งชี้วา ราคาเนื้อในสหรัฐทะยานขึ้นแตะระดับสูงที่สุดในรอบสองปีครึ่ง ขณะที่ความยากลำบากในการผลิตและการขนส่งยิ่งทำให้ต้นทุนการผลิตเนื้อเพิ่มขึ้น     

ดัชนีราคาอาหารขององค์การเกษตรและอาหารแห่งสหประชาชาติ(เอฟเอโอ)บ่งชี้ว่า ราคาอาหารทุกประเภททั่วโลกเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ซีเรียลจนถึงน้ำมันพืช ผลักดันให้ราคาอาหารทั่วโลกปีต่อปีเพิ่มขึ้น 31.3% ในเดือนต.ค.และในกลุ่มอาหารประเภทเนื้อ ซึ่งเป็นอาหารกลุ่มยอดนิยมในหมู่ประชากรชนชั้นกลางในเอเชีย ต้นทุนเนื้อเพิ่มขึ้น 32.7% 

ข้อมูลของควิก-แฟคเซ็ท ระบุว่า ในเดือนก.ย. ดัชนีเนื้อทะยานแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่มีการขัดทำดัชนีเพื่อเปรียบเทียบราคาตั้งแต่เดือนม.ค.ปี 2533

ส่วนราคาเนื้อที่ตลาดล่วงหน้าชิคาโก เมอร์แคนไทล์ เอ็กซ์เชนจ์ ในสหรัฐ ซึ่งเห็นหนึ่งในตลาดของผู้ส่งออกเนื้อรายใหญ่สุดของโลก บ่งชี้ว่าราคาเนื้อเคลื่อนไหวอยู่เหนือ 1.30 ดอลลาร์ต่อปอนด์ นับตั้งแต่เดือนต.ค.เพิ่มขึ้นกว่า 20% เมื่อเทียบจากปีก่อน 

“เพราะอัตราการฉีดวัคซีนของประเทศต่างๆทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ความต้องการบริโภคเนื้อ โดยเฉพาะจากอุตสาหกรรมอาหารขยายตัวอย่างมาก”ยู โออานะ ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายปฏิบัติการของโซจิตส ฟู้ดส์ ของญี่ปุ่นให้สัมภาษณ์เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชีย กล่าว

รายงานวิเคราะห์จากนิกเคอิ เอเชีย ระบุว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยกับแนวโน้มการบริโภคเนื้อสัตว์ในระยะยาวเพราะขณะที่เนื้อหมูยังคงเป็นเนื้อสัตว์ประเภทหลักที่ชาวเอเชียนิยมบริโภคแต่การเพิ่มขึ้นของพลเมืองชนชั้นกลางในภูมิภาคทำให้ความต้องการบริโภคเนื้อเพิ่มขึ้นอย่างมาก 

องค์การเกษตรและอาหารแห่งสหประชาชาติ(เอฟเอโอ) และองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ(โออีซีดี)คาดการณ์ว่า ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกเป็นภูมิภาคเดียวที่มีอัตราการบริโภคเนื้อต่อหัวประชากรเพิ่มขึ้นจนถึงปี 2573 จากฐานการบริโภคที่ต่ำ โดยมีจีนเป็นตัวขับเคลื่อนความต้องการหลัก

 

  โออีซีดี ยังคาดการณ์ด้วยว่าอัตราการบริโภคเนื้อต่อหัวประชากรในจีนที่ถือว่ามีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดอันดับสองของโลกจะเพิ่มขึ้น 8% ภายในปี 2573 หลังจากขยายตัว 35% ในระยะ10ปีที่ผ่านมา 

อย่างไรก็ตาม การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างมากกระบวนการผลิตเนื้อแปรรูป โดยมีโรงงานแปรรูปเนื้อจำนวนมากต้องดิ้นรนเพื่อให้กลับมาเดินสายการผลิตได้ตามปกติอีกครั้ง 

ขณะที่ราคาเนื้อในสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นจนนำไปสู่การโต้เถียงทางการเมืองในสหรัฐ ซึ่งไม่ถือเป็นประเด็นปัญหาของสหรัฐอย่างเดียว แต่ราคาเนื้อที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐมีนัยสำคัญต่อตลาดเนื้อโลกด้วย  เนื่องจากสหรัฐเป็นหนึ่งในสามผู้ส่งออกเนื้อรายใหญ่สุดของโลก ร่วมด้วยบราซิลและออสเตรเลีย โดยสัดส่วนการส่งออกเนื้อของทั้งสามประเทศรวมกันมีสัดส่วนเกือบครึ่งของการส่งออกเนื้อทั่วโลก  

ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรสหรัฐและสมาพันธ์ผู้ส่งออกเนื้อสหรัฐระบุว่า ช่วงเดือนม.ค.ส.ค.สหรัฐส่งเนื้อวัวขายทั่วโลกคิดเป็นมูลค่า 5,950 ดอลลาร์เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 36%    

“โรงงานเนื้อแปรรูปในสหรัฐยังไม่ได้หวนกลับมาเดินสายการผลิตเต็มประสิทธิภาพและกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาขาดแคลนแรงงาน บวกกับปัญหาความวุ่นวายในการขนส่งสินค้าและการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์”โออานะ กล่าว

ข้อมูลของทางการออสเตรเลีย ระบุว่า การส่งออกของออสเตรเลียยังไม่กระเตื้องขึ้นในระยะยาว โดยการส่งออกเนื่้อและเนื้อลูกวัวในเดือนต.ค.ร่วงลง 8.6% จากปีก่อนหน้านี้ อยู่ที่ 74,333 ตัน 

"ออสเตรเลียยังคงได้รับผลกระทบจากภัยแล้งที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2561-2562 "อากิโอะ ชิบาตะ หัวหน้าสถาบันวิจัยทรัพยากรธรรมชาติของญี่ปุ่นกล่าว และว่าภัยแล้งดังกล่าวบังคับทางอ้อมให้บรรดาเจ้าของฟาร์มฆ่าสัตว์ในฟาร์มทิ้ง บวกกับปัญหาการขาดแคลนหญ้าแห้งอย่างรุนแรงทำให้เจ้าของปศุสัตว์ไม่สามารถหาอาหารมาเลี้ยงปศุสัตว์ในฟาร์มของตัวเองได้

บราซิล ประเทศส่งออกเนื้อชั้นนำของโลก ประกาศเมื่อเดือนก.ย.ระงับการส่งออกเนื้อให้แก่จีน ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่สุดของประเทศหลังจากยืนยันว่ามีเชื้อวัวบ้าระบาดในโรงงานแปรรูปเนื้อในประเทศ

โออานะ กล่าวด้วยว่า ข้อตกลงการค้าระหว่างหลายประเทศในเอเชียและสหรัฐเป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยเปลี่ยนแปลงความต้องการเนื้อด้วยเช่นกัน

โดยในเดือนส.ค.ปีนี้ มูลค่าการส่งออกเนื้อวัวอเมริกันไปยังจีนแผ่นดินใหญ่เพิ่มขึ้นประมาณ 891% เมื่อเทียบกับปีก่อนคิดเป็นมูลค่าเกือบ 1,000 ล้านดอลลาร์ เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงการค้าเฟสที่หนึ่งระหว่างรัฐบาลปักกิ่งและรัฐบาลสหรัฐภายใต้การบริหารของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ครอบคลุมถึงสัญญาว่าจะนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ความต้องการเนื้อวัวอเมริกันในเกาหลีใต้ยังขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะหลังจากเริ่มทำข้อตกลงการค้าเสรี(เอฟทีเอ)ที่ช่วยลดภาษีศุลกากรจาก 40%ที่มีการลงนามกันเมื่อปี 2555เหลือ 13% ในปีนี้ ก่อนที่การเก็บภาษีจะเป็นศูนย์เปอร์เซนต์ภายในปี 2569

อย่างไรก็ตาม แม้เนื้อจะมียอดขายเพิ่มแต่เนื่องจากราคาแพงจึงทำให้ผู้บริโภคและร้านอาหารในเอเชียส่วนใหญ่หันไปใช้เนื้อหมูและเนื้อไก่แทนเนื้อเพื่อลดต้นทุนในการปรุงอาหาร


Advertising