“แป้งมันสำปะหลัง"

 

UBE เดินหน้าขยายพอร์ต ครอบกลางน้ำยันปลายน้ำ ส่งแป้งมันสำปะหลังออร์แกนิก-แป้งไร้กลูเตนลุยตลาดอาหาร ดันขึ้นแท่นใช้แทนแป้งสาลี รับเทรนด์สุขภาพมาแรง กางแผน 5 ปี ลุยควบรวม-ร่วมทุนกิจการ เสริมแกร่งธุรกิจปลายน้ำ ตั้งเป้าโตแรงปีละ 20-30% หลังครึ่งปีแรก 64 กวาดรายได้ 2.9 พันล้านบาท

 

วันที่ 5 ตุลาคม 2564 นายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) หรือ UBE ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมันสำปะหลังรายใหญ่ของประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัท ได้เดินหน้าปรับกลยุทธ์ด้านพอร์ตสินค้า โดยมุ่งเน้นความเฉพาะจงตัวผลิตภัณฑ์มากขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นการผลิตเอทานอลเกรดอุตสาหกรรม เพื่อใช้ทำสเปรย์และเจลเแอลกอฮอล์ ภายใต้แบรนด์ UBON BIO และ Klar เพื่อสอดรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด

ตลอดจนขยายพอร์ตสินค้าแป้งมันออร์แกนิd แป้งฟลาวมันสำปะหลังซึ่งเป็น High Value Product สินค้าที่มีการเติบโตสูง ภายใต้แบรนด์ Tasuko และ Savvy สามารถใช้ทดแทนแป้งสาลีในอุตสาหกรรมขนมและเบเกอรี่

เบื้องต้นได้วางแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อทดแทนการใช้แป้งสาลีในทุกมิติ เช่น ขนมปัง เบเกอรี่ เส้นพาสต้า เส้นราเมน ขนมขบเคี้ยว พิซซ่า แป้งชุบทอด เป็นต้น รวมไปถึงการพัฒนาแป้งทางเลือกเพื่อสุขภาพใหม่ที่ไม่มีกลูเตน

“จากเดิม UBE เป็นธุรกิจกลางน้ำ แปรรูปเอทานอลและแป้งมันสำปะหลัง แต่การพัฒนาสินค้าและออกจำหน่ายในนามของบริษัทเอง เป็นการรุกเข้าธุรกิจปลายน้ำมากขึ้น ส่งผลทั้งในแง่การสร้างการเติบโตและเพิ่มมาร์จิ้นให้แก่ธุรกิจอย่างต่อเนื่องอีกด้วย ซึ่งปัจจุบัน UBE ได้มีผลิตภัณฑ์แป้งผสมสำเร็จรูป แพนเค้ก คุกกี้ และบราวนี่ จำหน่ายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วประเทศ”

สำหรับผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทมีรายได้มีจากการขายรวม 2,946.11 ล้านบาท เติบโต 40% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 2,104.23 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจเอทานอล 47% ธุรกิจแป้งมันสำปะหลัง 50% และธุรกิจเกษตรอินทรีย์ 3%

ขณะที่กำไรสุทธิงวด 6 เดือนแรกของปี 2564 อยู่ที่ 106.6 ล้านบาท สูงกว่าปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิทั้งปี 99.3 ล้านบาท ซึ่งแนวโน้มผลการดำเนินงานครึ่งปีหลังของปี 2564 คาดว่ายังดีอย่างต่อเนื่อง ทั้งรายได้และกำไร โดยบริษัท ตั้งเป้าเติบโตอย่างต่อเนื่องปีละ 20-30%

ขณะที่แผนงานระยะยาวภายใน 5 ปีข้างหน้า จะขยายกลุ่มธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ (Food Tech) มากขึ้น สอดคล้องกับเทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพและความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งสามารถต่อยอดเพื่อสร้างการเติบโตได้อีกมากและเป็นสินค้าที่มีอัตรามาร์จิ้นดี

ตลอดจนมองโอกาสลงทุนใหม่ ๆ ทั้งร่วมลงทุน (JV) และเข้าควบรวมกิจการ (M&A) โดยเฉพาะธุรกิจปลายน้ำ และอาจพิจารณาแบรนด์สินค้าที่มีชื่อเสียงจากต่างประเทศเพื่อต่อยอดสินค้ากลางน้ำอีกด้วย


Advertising