โควิด-19 ระลอกสามดันแพลตฟอร์ม Food Delivery โต 50% ผู้บริหาร โรบินฮู้ด เตรียมอัดงบเพิ่มเป็น 200 ล้านช่วยร้านอาหาร – ไรเดอร์ พร้อมลุยบริการให้เช่ารถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าสำหรับไรเดอร์ที่ไม่มีรถเป็นของตัวเองในเดือนหน้า คาดสร้างงานได้อีกนับพันราย

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคที่สังคมไทยอยู่ในสภาพกึ่ง ๆ ล็อกดาวน์ โดยเฉพาะเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ที่รัฐบาลสนับสนุนให้เกิดการ Work From Home เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ Covid-19 หนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักคือธุรกิจร้านอาหาร ที่ต้องหันไปพึ่งพิงแพลตฟอร์ม Food Delivery ในการเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น

ภาพของธุรกิจร้านอาหารถูกเปิดเผยผ่านคุณธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการบริษัท บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ผู้บริหารแพลตฟอร์ม Robinhood ฟู้ดเดลิเวอรี่สัญชาติไทยในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ระบุว่า การระบาดของ Covid-19 รอบนี้กระทบกับร้านอาหารมากกว่ารอบที่แล้ว ซึ่งมาตรการช่วยเหลือของทางแพลตฟอร์มมีตั้งแต่การโอนเงินให้กับร้านค้าภายในหนึ่งชั่วโมง เพื่อให้ร้านค้ามีเงินนำไปหมุนต่อได้

นอกจากนั้น ก็มีการช่วยสนับสนุนค่าส่งอาหารในช่วงที่ไม่เร่งด่วน (Off Peak) โดยจะคิดค่าส่งกับผู้บริโภคเพียง 9 บาทในระยะทาง 3 กิโลเมตรแรก (ส่วนเกินที่เหลือทางแพลตฟอร์มเป็นผู้จ่ายให้กับไรเดอร์) เนื่องจากพบ Pain Point ว่า ร้านอาหารขนาดเล็กต้องการรายได้ตลอดวัน และความที่เป็นร้านเล็ก ต่อให้มียอดขายเข้ามามาก ๆ ในช่วงเที่ยง หรือช่วงเย็น คนทำอาหารที่มีก็ไม่เพียงพอที่จะทำอาหารได้ทันความต้องการ แต่ถ้ามีรายได้เข้ามาตลอดวัน เช่น ช่วงสาย หรือช่วงบ่าย ก็จะช่วยให้ร้านค้ามีโอกาสอยู่รอดได้มากขึ้น

“เราพยายามช่วยร้านค้าในลักษณะนี้ นอกเหนือจากการไม่เก็บค่า GP จากร้านค้า อีกทั้งความที่เราเป็นโปรเจ็ค CSR ของธนาคาร KPI ของเราคือคำขอบคุณจาก SME ที่เราอยากให้เขาอยู่รอด เพราะ SME คือรากฐานของธุรกิจเราเหมือนกัน”

ออเดอร์เพิ่ม 50% เพราะ Covid ระลอกสาม

คุณธนายังได้กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงบนแพลตฟอร์ม Robinhood ในช่วงการระบาดของ Covid-19 ระบาดระลอกสามว่า มีออเดอร์เติบโตขึ้นถึง 40 – 50%

“ช่วงก่อนจะมีคลัสเตอร์แรง ๆ เรามียอดออเดอร์อยู่ที่ประมาณ 10,000 ครั้งต่อวัน แต่ตอนนี้ขึ้นมาประมาณ 18,000 ออเดอร์ต่อวัน ก็ถือว่าขึ้นมาเยอะมากเหมือนกัน นี่ขนาดเราเป็นแพลตฟอร์มเล็ก ๆ นะ”

“ตอนนี้ก็พยายามหาไรเดอร์มาซัพพอร์ตให้เพียงพอ โดยมาตรการระยะสั้นของ Robinhood ที่จะสนับสนุนไรเดอร์ก็คือเพิ่มเงินให้ ในช่วงที่เราต้องการไรเดอร์เยอะ ๆ ส่วนมาตรการระยะยาวก็คือเรามีแผนจะเปิดบริการให้เช่ารถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า เพราะเราพบว่า บางคนเพิ่งตกงาน เขาขับรถมอเตอร์ไซค์เป็น แต่ไม่มีเงินซื้อรถ ก็เปลี่ยนมาเช่าได้วันละร้อยกว่าบาท คิดว่าจะสร้างงานได้อีกหลักพันคนเหมือนกัน”

คุณธนาเผยว่า โครงการให้เช่ารถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าคาดว่าจะเปิดตัวได้ในช่วงเดือนมิถุนายน โดยในระยะเริ่มต้นอาจเป็นการทดลอง 3 – 400 คันก่อน รวมถึงมีสถานีบริการให้สลับแบตเตอรี่ได้ด้วย

เผยภาพรวมธุรกิจอาหาร “อ่อนล้ามากแล้ว”

ทั้งนี้ คุณธนาได้กล่าวถึงภาพรวมธุรกิจร้านอาหารว่า “การระบาดรอบนี้มีผลกระทบกับร้านค้ามากกว่ารอบที่แล้ว เข้าใจว่าคงจะอ่อนล้ากันมามากแล้วด้วยแต่ไม่ว่าสถานการณ์ไหนจะมีร้านขายดีเสมอ ซึ่งจากที่เราเข้าไปคุยพบว่า ของอย่างนี้อยู่ที่ทัศนคติ ร้านที่ขายไม่ดี จะบ่นมากหน่อย แต่ร้านที่ขายดีจะปรับปรุงคุณภาพ และพยายามทำมาร์เก็ตติ้ง – ทำความเข้าใจผู้บริโภค”

Robinhood ใช้งบเพิ่มแตะ 200 ล้านบาท

สำหรับแพลตฟอร์ม Robinhood คาดว่าปีนี้จะใช้งบประมาณกว่า 200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยตั้งเป้าไว้ว่าจะใช้งบประมาณปีละ 150 ล้านบาท โดยส่วนหนึ่งมาจากการสนับสนุนค่าส่งอาหารบนแพลตฟอร์ม รวมถึงการเตรียมไปเปิดตัวในหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ และการเปิดบริการส่งของที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ด้วยนั่นเอง

“ปีที่แล้วใช้ไปร้อยล้าน ปีนี้คิดว่าใช้ไปสองร้อยกว่าล้านแล้ว แต่ไม่ต้องห่วง แบงค์กำไรเยอะ เขาเป็นบริษัทที่ตัวใหญ่ เหมือนเอไอเอส แบงค์กำไรสี่หมื่นกว่าล้าน เราขอมาสองร้อยกว่าล้านก็ไม่มีผลอะไรต่อธนาคาร ถือเป็นสัดส่วนที่เล็กมากเมื่อเทียบกับกำไร แต่ที่สำคัญคือเราอยากให้ SME อยู่รอด เพราะ SME คือรากฐานของธุรกิจเราเหมือนกัน” คุณธนากล่าวทิ้งท้าย


Advertising