การเตรียมตัวก่อนฉีดวัคซีนโควิด 19 นอกจากต้องรักษาสุขภาพร่างกาย พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ตัวเองพร้อมฉีดวัคซีนแล้ว อีกเรื่องที่หลายคนค่อนข้างกังวลก็คือ ไม่แน่ใจว่าควรหยุดยาประเภทไหนก่อนฉีดวัคซีนโควิดหรือเปล่า เพราะก่อนหน้านี้มีหลายกระแสออกมา บ้างก็ว่าห้ามกินยาชนิดนี้ ควรงดยาชนิดนั้น แต่ภายหลังสถาบันที่เกี่ยวกับการแพทย์ของโรคนั้น ๆ ก็ออกมาชี้แจงว่า ผู้ป่วยไม่ควรหยุดยาเอง

          เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน เราเลยรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ยาประเภทต่าง ๆ ที่สถาบันทางการแพทย์แนะนำไว้มาแจกแจงให้เข้าใจกันค่ะ ว่าจำเป็นไหมจะต้องหยุดยาก่อนฉีดวัคซีนโควิด

 

ฉีดวัคซีนโควิด กินยาคุมได้ไหม

          ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ให้คำแนะนำว่า ผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดที่มีเอสโตรเจนเป็นส่วนประกอบ ได้แก่ ยาเม็ดชนิดฮอร์โมนรวม ยาฉีดคุมกำเนิด และแผ่นยาปิดผิวหนังคุมกำเนิด สามารถรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้โดยไม่จำเป็นต้องหยุดการใช้ เพราะจากการศึกษาวิจัยทั่วโลกไม่พบว่าการฉีดวัคซีนจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดหลอดเลือดดำอุดตันแต่อย่างใด แต่หากยังมีความกังวลใจ และต้องการหยุดการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมน ควรใช้วิธีการคุมกำเนิดอื่น ๆ มาทดแทนเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์

          ขณะที่ นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ระบุว่า การใช้ยาคุมกำเนิดไม่ได้เป็นข้อห้ามในการฉีดวัคซีนโควิด ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้ใช้ แต่เนื่องจากฮอร์โมนดังกล่าวมีผลทำให้เลือดข้นอยู่บ้างแล้ว ถ้าจะเกิดผลข้างเคียงจากวัคซีนจะได้ไม่เกิดปัจจัยซ้ำซ้อนขึ้นไปอีก ดังนั้นถ้าเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง 14 วัน ก่อนวัคซีน และ 14 วัน หลังวัคซีน ระหว่างนั้นให้คุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นไปก่อน

กินยาคุมฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม จะเสี่ยงลิ่มเลือดอุดตัน หรือต้องหยุดยาก่อนหรือเปล่า ?

ยาเบาหวาน ยาลดไขมันในเลือด ยาโรคหัวใจ กินได้ไหม

          ผู้ป่วยที่ต้องกินยารักษาโรคประจำตัว 7 โรคเรื้อรังที่มีอาการคงที่ ไม่ว่าจะเป็นโรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคมะเร็ง, โรคเบาหวาน และโรคอ้วน สามารถกินยาได้ตามปกติก่อนเข้ารับวัคซีน

ฉีดวัคซีนโควิด ยาความดัน กินได้ไหม

          สามารถกินยาลดความดันโลหิตและยาประจำตัวอื่น ๆ ได้ตามปกติ ไม่ควรหยุดยาเองหรือปรับยาเพื่อฉีดวัคซีน เว้นแต่กรณีที่แพทย์แนะนำให้หยุดยาชั่วคราว เพื่อให้ผลลัพธ์ของวัคซีนแม่นยำขึ้น และควรควบคุมความดันโลหิตให้ดีก่อนฉีดวัคซีน

ความดันสูง ฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม สรุปชัด ๆ ข้อปฏิบัติก่อน-หลังฉีดวัคซีน

ฉีดวัคซีนโควิด ยาละลายลิ่มเลือด ยาต้านเกล็ดเลือด กินได้ไหม

          ยาละลายลิ่มเลือด หรืออาจเรียกว่า ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ซึ่งใช้สำหรับรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาลิ่มเลือดอุดตัน โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือคนที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เลือดออกง่าย สามารถรับประทานยาได้ตามปกติ คือ

          1. ยาวาร์ฟาริน (Warfarin) กินได้ และต้องมีระดับ INR หรือค่าความแข็งตัวของเลือดน้อยกว่า 4 จึงฉีดวัคซีนโควิดได้ หรือหากไม่มีผล INR แต่ระดับ INR ก่อนหน้านี้อยู่ในระดับ 2-3 มาโดยตลอด ก็สามารถฉีดวัคซีนได้

          2. ยาต้านเกล็ดเลือด เช่น แอสไพริน (Aspirin), โคลพิโดเกรล (Clopidogrel), ซิลอสทาซอล (Cilostazol) กินได้ และสามารถฉีดวัคซีนได้ แต่ไม่ควรคลึงกล้ามเนื้อหลังฉีดวัคซีน

          3. ยาต้านการแข็งตัวของเลือดกลุ่มใหม่ (NOACs) เช่น ดาร์บิการ์แทน (Dabigatan), ไรวาร็อกซาแบน (Rivaroxaban), อพิซาแบน (Apixaban), อีด็อกซาแบน (Edoxaban) รับประทานได้ โดยมีคำแนะนำเพิ่มเติมคือ

  • ถ้าปกติกินยาวันละ 1 ครั้ง ตอนเช้า : แนะนำให้ฉีดวัคซีนช่วงบ่าย แต่ถ้าฉีดวัคซีนช่วงเช้า ให้งดยามื้อเช้า และกินยาหลังฉีดวัคซีนไปแล้วอย่างน้อย 6 ชั่วโมง
  • ถ้าปกติกินยาวันละ 1 ครั้ง ตอนเย็น : แนะนำให้กินยาหลังฉีดวัคซีนไปแล้วอย่างน้อย 6 ชั่วโมง
  • ถ้าปกติกินยาวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น : แนะนำให้ฉีดวัคซีนช่วงบ่าย โดยไม่ต้องงดยา แต่ถ้าฉีดวัคซีนช่วงเช้า แนะนำให้งดยามื้อเช้าและกินยามื้อเย็นตามปกติ


          ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่กินยาละลายลิ่มเลือดทุกชนิด ก่อนฉีดวัคซีนโควิดควรแจ้งแพทย์ที่จุดฉีดวัคซีนให้ทราบด้วยนะคะ เพราะจะต้องกดตำแหน่งที่ฉีดยาให้นานกว่าปกติจนกว่าจะแน่ใจว่าไม่มีเลือดออกผิดปกติ

ฉีดวัคซีนโควิด ยาไมเกรนต้องงดหรือเปล่า

          สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย ระบุว่า ผู้ป่วยโรคปวดศีรษะไมเกรนไม่จำเป็นต้องหยุดยาแก้ปวดศีรษะไมเกรน เพราะอาจทำให้อาการกำเริบได้ จึงสามารถรับประทานยาเหล่านี้ได้ตามปกติ

          ยาแก้ปวดศีรษะไมเกรนชนิดต่าง ๆ ได้แก่

  • ยากลุ่ม Acetaminophen เช่น พาราเซตามอล
  • ยากลุ่ม NSAIDs เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน
  • ยาที่มีส่วนผสมของ Ergotamine และคาเฟอีน เช่น Cafergot, Tofago
  • ยาในกลุ่มทริปแทน เช่น Relpax, Siagran


          ยาป้องกันไมเกรนชนิดต่าง ๆ ได้แก่

  • ยาในกลุ่มยากันชัก เช่น Topiramate, Valproic acid
  • ยาในกลุ่มยาต้านเศร้า เช่น Amitriptyline, Venlafaxine
  • ยาในกลุ่มต้านแคลเซียม เช่น Flunarizine
  • ยาในกลุ่มต้านเบต้า เช่น Propranolol
  • ยาป้องกันไมเกรนชนิดอื่น ๆ ที่ผู้ป่วยรับประทานอยู่เป็นประจำ


          อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่กังวลใจ และต้องการหยุดยาแก้ปวดไมเกรนหรือยาป้องกันไมเกรน ให้ปรึกษาแพทย์ที่รักษา เพื่อวางแผนในการฉีดวัคซีนโควิด และแนะนำอาการของโรคปวดศีรษะไมเกรนที่อาจจะเกิดขึ้น

กินยาไมเกรน ฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้ไหม หรือต้องหยุดยาก่อน-หลังฉีด

ฉีดวัคซีนโควิด ยาแก้ปวด ยาพาราเซตามอล กินได้ไหม

          ก่อนฉีดวัคซีนโควิด ต้องงดยาแก้ปวด ยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล เพราะยาอาจไปกดภาวะการอักเสบ จนบดบังการตอบสนองของวัคซีน นอกจากนี้หากมีอาการไม่สบายหลังฉีดวัคซีน อาจทำให้เกิดความสับสนได้ว่าเป็นอาการแพ้วัคซีนหรือเป็นอาการป่วยที่เป็นอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้น ถ้ามีอาการป่วย เป็นไข้ ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปก่อน 2 สัปดาห์

          แต่หลังฉีดวัคซีน ถ้ามีไข้สามารถกินยาพาราเซตามอล 500 มิลลิกรัม 1 เม็ด (เช่น ยี่ห้อไทลินอล, ซาร่า, พาราแคพ, บาคามอล, ซีมอล, พานาดอล, เทมปร้า) ซึ่งเป็นยาลดไข้ที่ปลอดภัยที่สุด หากไม่หายสามารถกินซ้ำได้โดยห่างจากเม็ดแรก 4-6 ชั่วโมง ส่วนยาแก้ปวดในกลุ่ม NSAIDs เช่น ไอบูโพรเฟน, นาโปรเซน, เซเลโคซิบ, ไดโคลฟีแนค, ไพร็อกซิแคม เป็นต้น หากไม่จำเป็นควรหลีกเลี่ยง

 

ฉีดวัคซีนโควิด ยาคลายกล้ามเนื้อ กินได้ไหม

           ยาคลายกล้ามเนื้อ เช่น มายโดคาล์ม (Mydocalm), นอร์จีสิก (Norgesic) สามารถรับประทานได้

ฉีดวัคซีนโควิด ยาลดน้ำมูก แก้คัดจมูก กินได้ไหม

          เพราะยาลดน้ำมูก ยาแก้หวัดคัดจมูก กลุ่มที่มีฤทธ์ทางระบบประสาทอัตโนมัติ (Sympathomimetic) เช่น Pseudoephedrine มีผลทำให้หลอดเลือดแดงหดตัวได้ ดังนั้น จึงมีคำแนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มนี้ในวันที่ฉีดวัคซีน และ 14 วัน หลังจากนั้น ซึ่งเป็นระยะเวลาที่อาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม หากเป็นผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรับประทานอยู่เป็นประจำควรปรึกษาแพทย์ก่อน

ฉีดวัคซีนโควิด ยาแก้แพ้ กินได้ไหม

          คนที่เป็นภูมิแพ้และใช้ยาต้านฮิสตามีน หรือยาแก้แพ้ มาอย่างต่อเนื่อง สามารถกินยาได้ตามปกติ ไม่ควรลดหรือหยุดยาก่อนมาฉีดวัคซีน เพราะอาจทำให้โรคกำเริบและมีอาการคล้ายแพ้วัคซีนได้

          แต่ถ้าไม่ได้เป็นคนใช้ยาฮิสตามีนอย่างต่อเนื่อง ไม่แนะนำให้กินยาก่อนฉีดวัคซีนโควิด เพื่อป้องกันการแพ้วัคซีน เพราะไม่สามารถป้องกันอาการแพ้รุนแรงได้ และอาจบดบังอาการแพ้ทางผิวหนังที่เกิดขึ้น

ฉีดวัคซีนโควิด ยานอนหลับ ยาคลายเครียด กินได้ไหม

          ยานอนหลับ ยาคลายวิตกกังวล สามารถกินได้ตามปกติ

ฉีดวัคซีนโควิด กินยาต้านเศร้า ยาจิตเวช ได้ไหม

          ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย แนะนำให้ผู้ป่วยจิตเวชรับประทานยาต่อเนื่อง ซึ่งยาจิตเวชส่วนใหญ่ปลอดภัยต่อวัคซีน (ข้อมูล ณ วันที่ 28 พฤษภาคม 2564) ดังนั้น ไม่ควรลดยา เพิ่มยา หรือปรับยาเอง เพราะอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงหรือถอนยาได้ แต่หากผู้ป่วยหรือญาติกังวลใจ อาจพูดคุยปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้เรื่องการฉีดวัคซีน

ฉีดวัคซีนโควิด กินยาโรคหืด ใช้ยาพ่น ยาสูด ได้ไหม

          ผู้ป่วยโรคหืดสามารถฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้ โดยสมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืด และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย ให้คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องการใช้ยาไว้ดังนี้ค่ะ

  • ควรใช้ยาสูดสเตียรอยด์และยาประจำตัวโรคหืดอย่างสม่ำเสมอ ไม่จำเป็นต้องหยุดยาก่อนฉีดวัคซีน เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานว่ายาสูดสเตียรอยด์มีผลต่อการสร้างภูมิคุ้มกันที่กระตุ้นจากการฉีดวัคซีน
     
  • ผู้ป่วยโรคหืดที่มีอาการกำเริบจนต้องใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทานหรือฉีด ควรควบคุมอาการให้สงบก่อนฉีดวัคซีน
     
  • ผู้ป่วยโรคหืดที่ได้รับยาชีวโมเลกุล เช่น Omalizumab, Benralizumab, Dupilumab ควรรออย่างน้อย 7 วัน หลังได้รับยา จึงค่อยฉีดวัคซีนโควิด

ฉีดวัคซีนโควิด กินยากดภูมิคุ้มกัน ยาปรับภูมิคุ้มกัน ได้ไหม

          ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลไว้ว่า กรณีผู้ป่วยที่โรคสงบ สามารถฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้ โดยมีข้อแนะนำเรื่องการหยุดยา หรือไม่หยุดยาชั่วคราว ดังนี้

  • ผู้ป่วยมีอาการคงที่และกินยา Hydroxychloroquine, Chloroquine, Prednisolone น้อยกว่า 20 มิลลิกรัม/วัน หรือเทียบเท่า สามารถฉีดวัคซีนโควิดได้โดยไม่ต้องหยุดยาดังกล่าว แต่ถ้ากินยามากกว่า 20 มิลลิกรัม/วัน ติดต่อกันนานเกิน 1 เดือนขึ้นไป แต่อาการของโรคคงที่และอยู่ในช่วงปรับลดยา สามารถฉีดวัคซีนได้ แต่การตอบสนองต่อวัคซีนอาจจะลดลง
     
  • ผู้ที่กินยา Methotrexate, Cyclophosphamide, Azathioprine, Ciclosporin, Mycophenolate และสามารถควบคุมอาการได้ดีเพียงพอที่จะหยุดยาได้ชั่วคราวโดยโรคไม่กำเริบ แนะนำให้หยุดยา 1-2 สัปดาห์ หลังฉีดวัคซีน
     
  • ผู้ที่ได้รับยาฉีด Cyclophosphamide ควรฉีดวัคซีนโควิดไปแล้วอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ก่อนรับยา Cyclophosphamide
     
  • ผู้ที่ได้รับยาฉีด Rituximab แนะนำให้ฉีดวัคซีนครั้งแรกอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ก่อนได้รับยา Rituximab หรือถ้ารับยา Rituximab ไปแล้ว ให้รออย่างน้อย 1 เดือน จึงค่อยฉีดวัคซีนโควิด
     
  • ผู้ที่ได้รับยาฉีด Dupilumab ร่วมด้วย ควรฉีดวัคซีนโควิดไปแล้วอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ก่อนหรือหลังได้รับยา Dupilumab
     
  • ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินที่มีอาการคงที่และได้รับยาอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ Acitretin, Etanercept, Infliximab, Adalimumab, Ustekinumab, Secukinumab, Ixekizumab, Brodalumab, Guselkumab สามารถฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้ โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนการรับยากดภูมิ

น้ำมันกัญชาใช้ได้ไหม ก่อนฉีดวัคซีนโควิด

          ผู้ป่วยที่ใช้น้ำมันกัญชาทางการแพทย์ เช่น สูตรตำรับของอาจารย์เดชา เพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วยและคุณภาพชีวิต สามารถใช้ต่อได้ ไม่ต้องหยุด และไม่ต้องเพิ่มปริมาณ
 
------------------------------------------------------------------------------------
สรุปยาที่ไม่ควรกิน หรือปรึกษาแพทย์ก่อน
  • ยาแก้ปวด ลดไข้ (ไม่ควรกินดักไว้ก่อนฉีดวัคซีน เพราะไม่เกิดประโยชน์)
  • ยาลดน้ำมูก ยาแก้คัดจมูก กลุ่มที่มีฤทธ์ทางระบบประสาทอัตโนมัติ  (ถ้าไม่จำเป็นควรงดการใช้ยาก่อน)
  • ยาต้านฮิสตามีน ยาแก้แพ้ (ในคนที่ไม่ได้ใช้ยาอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรกินเพื่อหวังผลป้องกันภาวะแพ้วัคซีน)
  • ยากดภูมิคุ้มกัน (บางชนิดกินได้ บางชนิดต้องหยุดก่อนหรือหลังฉีดวัคซีนตามคำแนะนำ หากไม่แน่ใจให้ปรึกษาแพทย์ เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละคนมีอาการไม่เหมือนกัน)
  • ยาแอสไพริน (หากไม่ใช่ผู้ป่วยโรคประจำตัวที่ต้องกินยาแอสไพรินอยู่แล้ว คนทั่วไปไม่ควรกินเพื่อหวังผลป้องกันการเกิดลิ่มเลือด เนื่องจากไม่สามารถป้องกันได้ และอาจทำให้เลือดออกในร่างกายได้อีก)

Advertising